• นัดหมายและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ความเครียดเสี่ยงเป็นมะเร็งจริงไหม

07 September 2023

ความเครียดมักเกิดขึ้นเมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ตนเองไม่สามารถจัดการได้ และทันทีที่เกิดความเครียด ร่างกายของคนเราก็จะตอบสนองด้วยการสร้างฮอร์โมน อันได้แก่ Epinephrine หรือ Adrenaline และ cortisol ซึ่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็วขึ้น และระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงขึ้น เป็นผลให้คนเรามีความตื่นตัว แข็งแรงและมีพลังพร้อมรับกับสถานการณ์ จึงนับว่าความเครียดเพียงเล็กน้อย เป็นประโยชน์ที่ทำให้เราตื่นตัว กระตือรือร้นในการใช้ชีวิตประจำวัน

ในทางกลับกัน หากความเครียดนั้นกินระยะเวลายาวนาน มีความรุนแรงมากกว่าปกติ ความเครียดดังกล่าวย่อมส่งผลเสียต่อร่างกาย ยกตัวอย่างเช่น เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ รวมถึงโรคอื่นๆ อีกหลายโรค ปัญหาสุขภาพจิตก็เกิดขึ้นตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อาทิ ภาวะซึมเศร้า ความวิตกกังวล นอกจากนี้ความเครียดจะนำไปสู่พฤติกรรมหรือการแก้ไขปัญหาที่ไม่เหมาะสม อย่างการดื่มสุรา สูบบุหรี่ หรือการใช้สารเสพติดอื่นๆ รวมถึงพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มากเกินไป ซึ่งส่งผลให้อัตราความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งมีมากขึ้น

ทั้งนี้ผลงานวิจัยทางการแพทย์เกี่ยวกับความเครียดกับมะเร็งหลายงานวิจัยทั่วโลก ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนว่าความเครียดเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็ง คือมีรายงานที่ทั้งสนับสนุนและคัดค้าน ในขณะที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งนั้น กลับมีรายงานสนับสนุนค่อนข้างชัดเจนมากกว่า ว่าความเครียดมีผลต่อการกำเริบ การแพร่กระจายและการกลับมาเป็นมะเร็งซ้ำ ดังนั้นผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงต้องหลีกเหลี่ยงความเครียด ทำจิตใจผ่อนคลาย ที่สำคัญที่สุดและขาดไม่ได้เลยก็คือการมองโลกในแง่ดี ในแง่บวกอยู่เสมอ


โดยสรุปแล้ว ผลของความเครียดต่อการเกิดมะเร็งนั้น มีความสัมพันธ์ในการเป็นปัจจัยร่วมให้เกิดความเสี่ยง ทั้งยังส่งผลให้มะเร็งขยายขนาดและลุกลาม

แม้ยังไม่พบความสัมพันธ์ที่แน่ชัดว่าจะทำให้เกิดได้โดยตรง แต่สิ่งหนึ่งที่ควรระวังอยู่เสมอคือเราต้องรู้จักจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น ไม่ให้ส่งผลร้ายต่อตัวเรา #CMH


ปรึกษาปัญหามะเร็ง
โดยไม่มีค่าใช้จ่าย