การดูแลผู้ป่วยหลังฉายรังสีรักษามะเร็งครบแล้ว: คู่มือสำหรับผู้ป่วย
รังสีรักษา (Radiation Therapy) หรือที่มักเรียกกันว่า “การฉายแสง” เป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งโดยใช้รังสีพลังงานสูงในการทำลายหรือยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง รังสีสามารถทำลาย DNA ภายในเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์เหล่านั้นไม่สามารถเจริญเติบโตหรือแบ่งตัวได้ และในที่สุดเซลล์มะเร็งก็จะถูกกำจัดลง
การดูแลตัวเองหลังการฉายรังสีรักษามะเร็งเป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูและลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยแข็งแรงขึ้นและสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผลข้างเคียงหลังการฉายรังสีรักษามะเร็ง
ความเหนื่อยล้า : ผู้ป่วยอาจรู้สึกอ่อนเพลียตลอดวัน
ผิวหนัง : ผิวหนังบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีอาจเกิดการระคายเคือง แดง ผิวหนังลอก
ระบบย่อยอาหาร : หากบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีเป็นบริเวณช่องท้องหรือระบบย่อยอาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้
ช่องปากและลำคอ : หากบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีเป็นศีรษะ คอ หรือช่องปาก ผู้ป่วยอาจมีแผลในช่องปาก คอแห้ง น้ำลายแห้งหรือข้นเหนียว
ระบบปัสสาวะและอวัยวะสืบพันธุ์ : การฉายรังสีที่บริเวณอุ้งเชิงกรานอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในระบบปัสสาวะหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบสืบพันธุ์
เส้นผม : หากบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีเป็นหนังศีรษะ ผู้ป่วยอาจสูญเสียเส้นผมในบริเวณนั้นๆได้
ทั้งนี้ ผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษามะเร็งจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีและขนาดของรังสีที่ได้รับ
แนวทางการดูแลผู้ป่วยฉายรังสี
การดูแลผิวหนังบริเวณฉายรังสี : ดูแลบริเวณที่ได้รับการฉายรังสีด้วยการใช้ครีมบำรุงผิวที่แพทย์แนะนำ หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีและน้ำหอม รวมถึงหลีกเลี่ยงการแกะ เกา และขัดถูผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสี
การดูแลช่องปาก : บ้วนปากด้วยน้ำเกลือหรือสารละลายที่แพทย์แนะนำ รักษาความสะอาดของช่องปาก และหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหรือร้อนจัด เพื่อไม่ให้เป็นการเพิ่มการระคายเคืองในช่องปากและลำคอ
ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ : รักษาความชุ่มชื้นของร่างกายโดยการดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หรืออย่างน้อย 2ลิตรต่อวัน โดยการจิบน้ำบ่อยๆ
รับประทานอาหารที่มีประโยชน์: เลือกรับประทานอาหารที่มีสารอาหารครบถ้วนและสมดุล หลีกเลี่ยงอาหารรสจัดหรือย่อยยาก
พักผ่อนให้เพียงพอ : พักผ่อนและนอนหลับให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูจากความเหนื่อยล้า
รักษาสุขภาพจิตใจ : สุขภาพจิตที่ดีเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาโรคมะเร็ง พยายามผ่อนคลายจากความเครียด ญาติผู้ป่วยควรให้กำลังใจและดูแลอย่างใกล้ชิด
ออกกำลังกายเบาๆ : ออกกำลังกายเบาๆ เพื่อช่วยลดความเหนื่อยล้า ผ่อนคลายจากความเครียดกังวล และเสริมสร้างความแข็งแรงและภูมิคุ้มกันของร่างกาย รวมถึงควรบริหารร่างกายเบาๆในส่วนที่ได้รับการฉายรังสี ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ เพื่อไม่ให้บริการที่ได้รับการฉายรังสีเกิดพังผืดเกาะ
หลีกเลี่ยงแสงแดด : หลีกเลี่ยงการโดนแสงแดดจัด โดยเฉพาะบริเวณที่ได้รับการฉายรังสี เนื่องจากอาจยิ่งทำให้เกิดการระคายเคืองและเผาไหม้
รับประทานยาและทำตามคำแนะนำของแพทย์ : ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในการรับประทานยาและการดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด
ติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง : เข้ารับการตรวจติดตามผลตามนัดหมายและรายงานผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นให้แพทย์ทราบ หากมีอาการผิดปกติก่อนการนัดหมาย ให้รีบเปลี่ยนแปลงนัดแล้วรีบเข้าพบแพทย์โดยทันที
การดูแลตัวเองและการพยาบาลผู้ป่วยฉายรังสีหลังการฉายรังสีรักษามะเร็ง เป็นสิ่งสำคัญในการช่วยให้ร่างกายฟื้นฟูและลดผลข้างเคียง หากมีอาการที่รุนแรงหรือผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดีอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การรักษาจากทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และส่งผลให้การรักษาของผู้ป่วยมีผลลัพธ์ที่ดีอย่างราบรื่น