• นัดหมายและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

อาหารบำรุงร่างกายสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังได้รับการฉายแสง

26 November 2024

อาหารบำรุงร่างกายผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังฉายแสงมีอะไรบ้าง


การรักษามะเร็งด้วยการฉายแสง (Radiation Therapy) อาจส่งผลต่อร่างกายและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียหรือมีอาการไม่สบายได้ ดังนั้นการเลือกอาหารของผู้ป่วยฉายแสงมะเร็งที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพดีขึ้นและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น อาหารผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังฉายแสง มีดังนี้

อาหารผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังฉายแสง

ผู้ป่วยควรเน้นรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด และมีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ได้แก่:

- โปรตีน: เน้นโปรตีนจากพืชและสัตว์ เช่น เนื้อปลา ไข่ เต้าหู้ ถั่วต่าง ๆ เพื่อช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย (โปรตีน 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่)

- คาร์โบไฮเดรต: ข้าว ขนมปัง ธัญพืช เพื่อให้พลังงานที่ใช้ในชีวิตประจำวัน (คาร์โบไฮเดรต 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี่)

- ไขมัน: เน้นไขมันจากพืช เช่น น้ำมันมะกอก อะโวคาโด เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะไขมันในเลือดสูงซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด (ไขมัน 1 กรัม ให้พลังงาน 9 กิโลแคลอรี่)

- วิตามินและเกลือแร่: เป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงานแต่มีส่วนช่วยให้ร่างกายทำงานเป็นปกติ โดยสารอาหารประเภทนี้พบได้ในผักและผลไม้ สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังฉายแสง ควรรับประทานผักและผลไม้ที่ปอกเปลือกและล้างให้สะอาด

- น้ำ: ดื่มน้ำเพียงพอ 8-10 แก้วต่อวัน หรือประมาณ 2-2.5 ลิตร เพื่อป้องกันการขาดน้ำ


วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังฉายแสง

ตัวอย่างวิตามินและเกลือแร่ในร่างกายมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างภูมิต้านทานและช่วยร่างกายต่อสู้กับผลข้างเคียงของการฉายแสง:

- วิตามิน C: ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ป้องกันเลือดออกตามไรฟัน เช่น ส้ม สตรอว์เบอร์รี

- วิตามิน D: ช่วยในการดูดซึมแคลเซียม เสริมสร้างกระดูก เช่น ปลาซาร์ดีน ไข่ และนม

- ธาตุเหล็ก: ช่วยเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง เช่น เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง ไข่แดง ผักใบเขียว

- สังกะสี: ช่วยในการซ่อมแซมเนื้อเยื่อและเสริมระบบภูมิคุ้มกัน เช่น เมล็ดฟักทอง เนื้อไก่ เนื้อหมู ผักโขม มะเขือเทศ


อาหารผู้ป่วยมะเร็งที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงที่กำลังฉายแสง

1. อาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า กิมจิ

2. อาหารดิบหรืออาหารที่ไม่ได้ผ่านความร้อน เช่น เนื้อวัวดิบ ปลาดิบ

3. อาหารไม่สดหรืออาหารที่ไม่สะอาด

4. อาหารแปรรูป เช่น ไส้กรอก แฮม ของรมควัน ปิ้งย่าง

5. ผักสด ผลไม้เปลือกบาง หรือผลไม้ที่กินทั้งเปลือกได้ เช่น องุ่น ชมพู่

6. งดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่


วิธีรับมือ เมื่อผลข้างเคียงการรักษาทำให้รับประทานอาหารได้ยาก

1. เบื่ออาหาร

- เลือกอาหารที่รับประทานได้ง่าย เช่น ไอศกรีม หรือขนมที่ชอบ

- แบ่งอาหารผู้ป่วยมะเร็งออกเป็นมื้อย่อย ๆ 4-6 มื้อต่อวันและเพิ่มมื้อว่างระหว่างมื้อ เพื่อไม่ให้รู้สึกอิ่มเกินไป

2. คลื่นไส้อาเจียน

- รับประทานอาหารก่อนให้ยาเคมีบำบัด

- หลีกเลี่ยงอาหารที่เป็นของทอด อาหารที่มีกลิ่นฉุน หรือรสจัด

- เลือกอาหารแห้ง เช่น ขนมปังกรอบ ทองม้วน และจิบน้ำบ่อย ๆ

3. การรับรสเปลี่ยนไป

- กลั้วปากด้วยน้ำสะอาดก่อนและหลังรับประทานอาหาร

- ใช้อุปกรณ์รับประทานที่เป็นแก้วหรือพลาสติก เพื่อลดรสโลหะ

- ใช้เครื่องปรุงรสเปรี้ยว หรือน้ำตาลเล็กน้อย เพื่อช่วยกระตุ้นการรับรส

4. ปากแห้ง หรือมีแผลในช่องปาก

- จิบน้ำเปล่าบ่อย ๆ

- รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยว

- หลีกเลี่ยงอาหารร้อนและอาหารที่มีกรด เช่น น้ำผลไม้จากมะนาว

5. ท้องเสีย

- ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่หรือน้ำบ่อย ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ

- หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง และผลิตภัณฑ์จากนมจนกว่าอาการจะดีขึ้น

- งดอาหารที่ทำให้เกิดแก๊ส เช่น เนย ถั่ว และผักดิบ

6. เม็ดเลือดขาวต่ำ

- หลีกเลี่ยงการรับประทานผักสดหรือผลไม้สด

- เลือกอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และหลีกเลี่ยงผักผลไม้ที่มีรอยช้ำหรือเชื้อรา

- ควรงดเครื่องปรุงแห้ง เช่น พริกไทยและพริกป่น

- ล้างมือให้สะอาดเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

- หลีกเลี่ยงนมหรือผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการปราศจากเชื้อ

7. น้ำหนักลด

- รับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง แต่หลีกเลี่ยงไขมันทรานซ์

- เติมนมผง หรืออาหารเสริมในเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มพลังงาน

- หากน้ำหนักลดลงมาก ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการให้อาหารทางการแพทย์

8. ท้องผูก

- รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ธัญพืช

- ดื่มน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว เพื่อช่วยระบบขับถ่าย

การดูแลเรื่องอาหารสำหรับผู้ป่วยมะเร็งอย่างเหมาะสมมีบทบาทสำคัญต่อการฟื้นฟู และเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาด้วยการฉายแสงผู้ป่วย ดังนั้น ครอบครัวจึงควรให้ความใส่ใจในอาหารผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังฉายแสงทุกมื้อ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่แข็งแรง และเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ปรึกษาปัญหามะเร็ง
โดยไม่มีค่าใช้จ่าย