• นัดหมายและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

สิ่งที่ผู้ป่วยควรรู้ก่อนเริ่มการฉายแสงมะเร็งปอด

07 January 2025

สิ่งที่ผู้ป่วยควรรู้ก่อนเริ่มการฉายแสงมะเร็งปอด


การฉายแสงมะเร็งปอด เป็นหนึ่งในวิธีการรักษามะเร็งปอด ที่มีประสิทธิภาพในการจัดการกับเซลล์มะเร็งในปอด โดยใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งและหยุดการเจริญเติบโต การเตรียมตัวก่อนการฉายแสงเปรียบเสมือนการวางแผนการเดินทางไกล หากเตรียมตัวดี ย่อมไปถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างราบรื่น การเตรียมตัวก่อนการฉายแสงจะช่วยให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้


ก่อนที่จะเริ่มการฉายรังสีมะเร็งปอด ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน การปรึกษาแพทย์เป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจถึงขั้นตอนการเตรียมตัวฉายแสงมะเร็งปอด ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น และคำแนะนำในการเตรียมตัว


ขั้นตอนการฉายแสงมะเร็งปอด

ก่อนการฉายรังสี ผู้ป่วยจะได้พบแพทย์รังสีรักษาเพื่อซักประวัติ ตรวจร่างกาย และวางแผนการฉายแสงมะเร็งปอดอย่างละเอียด โดยจะมีการจำลองการฉายรังสีด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Radiation simulation) เพื่อเลียนแบบสภาวะจริงในขณะฉายแสงแต่ละวัน วิธีการฉายรังสีแบ่งออกเป็นหลายเทคนิค โดยขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของก้อนเนื้องอกจากการหายใจของผู้ป่วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้:

1. การฉายรังสีเพื่อครอบคลุมการเคลื่อนไหวของก้อนเนื้องอกตามการหายใจ เป็นเทคนิคที่ใช้บ่อยที่สุด เนื่องจากก้อนเนื้องอกมะเร็งปอดจะเคลื่อนไหวตามจังหวะการหายใจ ผู้ป่วยควรฝึกการหายใจเข้า-ออกให้สม่ำเสมอก่อนทำการจำลองการฉายรังสี โดยการฉายรังสีด้วยวิธีนี้จะใช้เวลา 10-20 นาทีต่อครั้ง

2. การฉายรังสีร่วมกับอุปกรณ์กดบริเวณช่องท้อง อุปกรณ์นี้จะช่วยลดการเคลื่อนไหวของก้อนเนื้องอก ทำให้ผู้ป่วยอาจรู้สึกอึดอัดบ้าง โดยการฉายรังสีวิธีนี้จะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาทีต่อครั้ง

3. การฉายรังสีโดยให้ผู้ป่วยกลั้นหายใจ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่สามารถกลั้นหายใจได้อย่างน้อย 20 วินาทีต่อครั้ง การฉายรังสีจะใช้เวลา 45-60 นาทีต่อครั้ง

4. การฉายรังสีโดยติดตามการเคลื่อนไหวของก้อนเนื้องอก เครื่องฉายรังสีจะเคลื่อนตามจังหวะการหายใจของผู้ป่วย ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลาประมาณ 30-60 นาทีต่อครั้ง

หลังจากการจำลองการฉายแสงมะเร็งปอดแล้ว แพทย์รังสีรักษาและนักฟิสิกส์การแพทย์จะวางแผนและตรวจสอบคุณภาพของการรักษาอย่างละเอียด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการฉายรังสีรักษามะเร็งปอดที่แม่นยำ


วิธีการดูแลผู้ป่วยมะเร็งปอดระหว่างการรักษา

การฉายรังสีมีลักษณะคล้ายกับการตรวจเอ็กซเรย์ที่โรงพยาบาล รังสีที่ใช้คือรังสีเอ็กซเรย์ ไม่ใช่รังสีความร้อน ดังนั้นจึงไม่ทำให้รู้สึกร้อนหรือเจ็บปวดระหว่างการรักษา ผู้ป่วยจึงไม่ต้องวิตกกังวลหรือตื่นกลัวกับการรักษามะเร็งปวดด้วยวิธีนี้ ควรให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและรักษาน้ำหนักตัวให้คงที่ การดูแลสุขภาพให้ดีจะช่วยให้กระบวนการรักษาเป็นไปอย่างราบรื่น


อาการหลังฉายแสงมะเร็งปอด

- การอักเสบของเนื้อปอด (Radiation pneumonitis) ซึ่งอาจทำให้มีอาการไอ หายใจลำบาก หรือเหนื่อยง่าย อาการนี้มักจะดีขึ้นภายใน 3-6 เดือนหลังการฉายรังสี

- การอักเสบของเยื่อบุหลอดอาหาร (Radiation esophagitis) อาจทำให้กลืนอาหารลำบากหรือรู้สึกเจ็บเมื่อกลืน อาการนี้จะทุเลาลงหลังจากการรักษาประมาณ 2-3 เดือน

- การอักเสบของผิวหนัง (Radiation dermatitis) อาจทำให้ผิวหนังบริเวณที่ฉายรังสีแดงหรือคล้ำ อาการนี้จะดีขึ้นหลังจาก 2-3 เดือนเช่นกัน

ในระหว่างการรักษามะเร็งปอด ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจจากแพทย์รังสีรักษาอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อประเมินผลข้างเคียงและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หากมีอาการผิดปกติควรแจ้งแพทย์ทันที การฉายรังสีมะเร็งปอด เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนและต้องการการเตรียมตัวอย่างรอบคอบ ผู้ป่วยจึงควรเข้าใจขั้นตอนการรักษาและวิธีการดูแลตนเองอย่างเหมาะสมเพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด


โรงพยาบาลชีวามิตรา เป็นหนึ่งในโรงพยาบาลชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญในการฉายรังสีรักษามะเร็งปอด โดยมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย



ปรึกษาปัญหามะเร็ง
โดยไม่มีค่าใช้จ่าย