โรคมะเร็งปอดถือเป็น มะเร็งที่พบมากเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศไทย โดยพบมากในเพศชาย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่ในปัจจุบัน ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีโอกาสหายจากโรคมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้รับการตรวจพบในระยะเริ่มต้น
โรคมะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ในเนื้อเยื่อปอด โดยปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่:
• การสูบบุหรี่ เป็นสาเหตุที่พบได้มากกว่าร้อยละ 50 โดยผู้ที่สูบบุหรี่มีความเสี่ยงโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10 เท่า
• การได้รับควันบุหรี่มือสอง ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดผู้ที่สูบบุหรี่ประจำจะมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไปถึง 2 เท่า
• มลพิษทางอากาศ
• การสัมผัสสารก่อมะเร็งในสิ่งแวดล้อม เช่น แร่ใยหิน สารแอสเบสตอล เป็นต้น ซึ่งสารเหล่านี้สามารถทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้มากกว่าคนทั่วไปถึง 5 เท่า
อาการของมะเร็งปอดที่พบได้บ่อย ได้แก่:
• ไอเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ อาจมีหรือไม่มีเสมหะ
• ไอมีเสมหะปนเลือด
• หายใจลำบาก หรือเจ็บหน้าอกเวลาหายใจ
• หายใจมีเสียงหวีด หรือเสียงแหบ
• ปอดติดเชื้อบ่อย
• เบื่ออาหารหรือน้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ
• อ่อนเพลียผิดปกติ
การตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผลการรักษา ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำ เช่น การเอ็กซเรย์ปอด การตรวจด้วยเครื่อง CT Scan / PET scan / MRI การส่องกล้องหลอดลม และการตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
มาถึงจุดนี้ทุกคนคงอยากทราบว่ามะเร็งปอดรักษายังไง เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น เราจะอธิบายวิธีการรักษามะเร็งปอดแบบองค์รวมด้วยเทคโนโลยีทันสมัย การรักษามะเร็งปอดในปัจจุบันมีหลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ดังนี้
• การผ่าตัด
• รังสีรักษามะเร็ง (Radiation Therapy) เป็นการใช้รังสีพลังงานสูงทำลายเซลล์มะเร็ง โดยเทคโนโลยีล่าสุดสามารถกำหนดเป้าหมายได้แม่นยำยิ่งขึ้น เพื่อลดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อปกติโดยรอบ
• การรักษามะเร็งด้วยความร้อน (Hyperthermia) เป็นนวัตกรรมที่ใช้ความร้อนเฉพาะจุดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาเมื่อใช้ร่วมกับการฉายรังสีหรือเคมีบำบัด
• เคมีบำบัด (Chemotherapy)ใช้ยาต้านมะเร็งที่ออกแบบมาเฉพาะเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยปัจจุบันมีการพัฒนายาใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพสูงและผลข้างเคียงน้อยลง
• ยาภูมิคุ้มกันบำบัด
• ยามุ่งเป้า (ยาต้านเฉพาะจุด)
การป้องกันและดูแลสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญในการลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยสามารถทำได้ดังนี้:
• เลิกสูบบุหรี่และหลีกเลี่ยงการได้รับควันบุหรี่มือสอง
• รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะผักและผลไม้ที่อุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น ผักใบเขียวและผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
• ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน
• ตรวจสุขภาพเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
• หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อมะเร็งและมลพิษในสิ่งแวดล้อม เช่น สารหนู ถ่านหิน และสารพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ รวมถึงฝุ่น PM 2.5
ด้วยความก้าวหน้าทางการแพทย์และเทคโนโลยีการรักษาที่ทันสมัย ผู้ป่วยมะเร็งปอดมีโอกาสหายจากโรคมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และได้รับการรักษาที่เหมาะสม การดูแลสุขภาพและป้องกันตนเองตั้งแต่วันนี้ จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอด พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสในการรักษาหากเกิดการเจ็บป่วย